วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552

patonggoh session - the day at Ogivy&Mather

เซสชั่น ปาท่องโก๋ ที่โอกิลวี่ บริษัทโฆษณาที่โอกิลวี่ผู้ก่อตั้งแนะนำคนให้ทำทุกวันในชีวิตของคุณให้พิเศษที่สุด

หน้าตาซีเรียส จริงจัง ผู้ฟังเลยเครียด (แต่จริงๆ สนุกนะ)


(โปรดสังเกตจอพรีเซนเทชั่น ขอบคุณพี่ดาว โอกิลวี่ (ชุดลายๆ ลายโอบาม่า) มากค่ะ)



คนฟังตั้งใจและตื่นตระหนก (อะไรของมันวะ)





รับของที่ระลึกจาก เอ็มดี โอกิลวี่ (ยิ้มหน้าบานเชียว)





















มีโอกาสได้ไปหาเสียง ถึงพฤติกรรมมนุษย์และผู้นำที่พึงประสงค์ ในเซสชั่น ปาท่องโก๋ ให้กับทีม client service ของ โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์






วันนั้นสนุกมาก เวลาน้อยไปหน่อย เรื่องราวที่หลังไหลต้องหยุดชั่วคราว ตีระฆังห้ามเลือด


















วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552

คู่หู ยาฮู (จบ)

Yahoo [2]- คู่หูไซเบอร์ยุคบุกเบิก


ปรารถนา รัตนะสิทธิ์


ในฐานะรู่นพี่ ยาฮูไม่ยอมเสียเหลี่ยมรุ่นน้อง อย่าง กูเกิ้ล แน่ ตอนนี้ ยาฮู ทุ่มทุนจ้าง โจนาธาน แฮร์ริส Jonathan Harris นักออกแบบศิลปะเว็บไซต์ชื่อดัง เพื่อทำโปรเจ็คท์ capsule.yahoo.com ที่ล้ำสุดๆ แล้ว (ล้ำยังไงลองไปดูกันเอง) เรียกว่าตอนนี้ยาฮูกำลังพัฒนาให้เป็นเว็บที่ทันสมัยเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ยังมีทีมจากสำนักข่าวของยาฮู ในการวิเคราะห์เกมมหาชน อย่าง บาสเกตบอล เอ็นบีเอ ถือเป็นผลิตผลจากการแก้เซ็งที่ไม่ธรรมดายิ่ง ย้อนหลังกลับไปจะเห็นภาพ คู่หู ยาฮู พัฒนาโปรเจ็คท์นี้ ขึ้นมาเป็นงานอดิเรก ขณะทำปริญญาเอกต่อที่สแตนฟอร์ด ยาฮู จึงเกิดขึ้นในห้องแลบคอมพิวเตอร์ของมหาลัยนั่นเอง จนเมื่อฉลองคนเข้าชมหลักล้านในปี 1994 จึงทำให้ทั้งคู่รู้ว่า เว็บนี้สามารถทำเป็นธุรกิจได้ ต่อมาในเดือนมีนาคม 1995 พวกเขาจึงตั้งเป็นบริษัท และจ้างทีมงานเข้ามาบริหาร ก่อนเปิดขายหุ้นในเดือน เมษายน พวกเขาจึงกลายเป็นเศรษฐีร้อยล้าน(เหรียญสหรัฐ) เพียงเวลา 2 เดือนให้หลังเท่านั้น!! สองคู่หู ได้บริจาคเงินให้กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของสแตนฟอร์ด ถึง 2 ล้านดอลล่าร์ ขณะที่ทั้งสอง อายุเพียง 30 และ 28 เท่านั้น ถือว่าเป็นคนอายุน้อยที่สุดที่บริจาคในรอบ 22 ปี ปัจจุบัน พวกเขายังเป็นกรรมการของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดอีกด้วย ล่าสุด เดวิด ฟิโล อยู่อันดับ 73 จากการจัดอันดับเศรษฐีอเมริกันของนิตยสาร ฟอร์บส์ โดยมีทรัพย์สินอยู่ที่ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี เจอรี่ หยาง อยู่ในอันดับไล่เลี่ยกัน ทรัพย์สินพอๆ กัน
ยาฮู ถือเป็นผู้นำไดเร็คทอรี่ออนไลน์เจ้าแรกแห่งโลก เวิลด์ ไวด์ เวบ และการร่วมมือกับ แจ็ค หม่า แห่ง อาลีบาบา เว็บซื้อขายใหญ่โตที่สุดของจีน ถือเป็นการผนึกกำลังสร้างอาณาจักรที่ไม่ยอมแพ้ กูเกิ้ลในการเปิดโลกสู่จีน และ อินเดีย ทำให้ปัจจุบัน ยาฮู อิ้งค์ ให้บริษัททั้งเป็นเว็บท่าสำหรับอินเทอร์เน็ต และมีบริการครบวงจรที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเสิร์จ เอ็นจิน ไดเร็คทอรี่ และฟรีเมล์ ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง มีสำนักงาน อยู่ในทั่วภูมิภาค จากผลสำรวจ อเล็กซ่า อินเทอร์เน็ต และ เน็คคราฟท์ ยาฮู เป็นเว็บไซต์ที่มีคนเข้าเยี่ยมชมมากที่สุด ด้วยจำนวน 412 ล้านคน และหน้าเว็บก็ถูกเปิด 3.4 ล้านครั้งต่อวัน จากสถิติในเดือนตุลาคม 2005 จากการให้บริการนานาประการ ตอบรับทุกความต้องการ ตั้งแต่ IM หรือ Instant messaging และ Mailing list จนถึงเว็บไซต์ในเครือ ที่ดังๆ คนไทยรู้จักดีก็ GeoCities เป็นต้น แล้วยังมี Ask Yahoo! กับคำถามทุกคำตอบ Blo.gs แหล่งรวมบล็อก del.icio.us เว็บโซเชี่ยล Flickr จนถึง เว็บแชร์รูปภาพ การให้บริการของยาฮู มีทั้ง วีดีโอ ทีวี ท่องเที่ยว กีฬา เพื่อแข่งขันกับ AOL รวมถึง เกมฟุตบอลออนไลน์ ธุรกิจรายย่อย ช้อปปิ้ง SEO มาร์เก็ตติ้ง เสิร์จ เอ็นจิน, รีเสิร์ช เรียล เอสเตท, พอดแคสท์, เบต้า พับลิชเชอร์ โฟโต้ ข่าว ดนตรี และ หนัง เมื่อเดือนกันยายน 2006 ที่ผ่านมา ยาฮู ประกาศขยายสำนักงานที่ใหญ่เป็นอันดับสองออกนอกอเมริกา โดยมาปักหลักในบังกาลอร์ และเพิ่มวิศวกรจาก 800 คน เป็น 1,000 คน สงครามอินเทอร์เน็ต เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น!!

กำเนิดยาฮู ตอน 1


คู่หู ยาฮู (1 )

โดย ปรารถนา รัตนะสิทธิ์

หลังจาก ทิม เบอร์เนอร์ ลี เปิดศักราชให้โลกรู้จักคำว่า WorldWideWeb ในปี 1991 โลกก็เริ่มตอบรับอย่างมโหฬารในปี 1993 จนเกิดการเปลี่ยนแปลง ราวเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เมื่อโลกทั้งใบหมุนเข้าสู่วงโคจรของไอที ยาฮู ถือเป็นรุ่นพี่ที่กำเนิดขึ้นมาในรั้วมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเช่นเดียวกับ กูเกิ้ล ปัจจุบัน ยาฮู ยังอยู่ได้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการวิจัยและพัฒนาตัวจริง พร้อมแทคติคสู้กันยิบตากับ รุ่นน้อง กูเกิ้ล ทั้ง ยาฮู และ กูเกิ้ล แม้ดูจะมีจุดเริ่มต้นที่คล้ายกัน แต่เป็นความคล้ายในความแตกต่าง เพราะ ยาฮูนั้น 2 คู่หูเป็นเพื่อนสนิทร่วมห้องปริญญาเอกกัน และทำยาฮูขึ้นมาเล่นๆ เพื่อแก้เบื่อในช่วงงานวิทยานิพนธ์ ซึ่ง เดวิด ฟิโล หนึ่งในคู่หู เปิดเผยว่า รู้สึกเบื่อที่หัวข้อวิทยานิพนธ์ ไม่ผ่านครั้งแล้วครั้งเล่า เลยทำโครงงานนี้ขึ้นมาสนุกๆ โดยมี เจอรี่ หยาง คู่หูชาวไต้หวัน – อเมริกัน เห็นพ้องด้วยว่า ทำโปรเจ็คท์ ยาฮู “เพื่อแก้เซ็ง” ซึ่งต่างจากการเกิดขึ้นของ กูเกิ้ล ที่ เซอร์เกย์ บริน และ ลาร์รี่ เพจ พัฒนาจากงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกโดยตรง สำหรับ เดวิด ฟิโล ( David Filo) นั้น เขาเป็นชาวอเมริกัน เกิดที่ย่านชานเมือง ใน เมือง มอส บลัฟฟ์ รัฐหลุยส์เซียน่า จบการศึกษาไฮสคูล จากโรงเรียน แซม ฮุสตัน และจบปริญญาตรี วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จาก มหาลัย Tulane และปริญญาโทวิศวกรรมไฟฟ้า จาก สแตนฟอร์ด ส่วนคู่หู เจอรี่ หยาง (Chih-Yuan "Jerry" Yang) เกิดวันที่ 6 พฤศจิกายน ปี 1968 ในไทเป ไต้หวัน พอเขาอายุ 10 ขวบ ครอบครัวของเขาอพยพไปปักหลักใน ซาน โฮเซ่ แคลิฟอร์เนีย อเมริกา พ่อของหยางเสียชีวิตตั้งแต่ 2 ขวบ และแม้จะมีเป็นแม่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ แต่ในวันที่เหยียบแผ่นดินอเมริกา หยางพูดภาษาอังกฤษได้เพียงคำเดียวคือคำว่า shoe ที่แปลว่า รองเท้า แต่ด้วยความมุ่งมั่น เขาใช้เวลาเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพียงในเวลา 3 ปีเท่านั้น ก็สามารถไปอยู่ในระดับ AP Class ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ได้รับการยอมรับหยาง จบไฮสคูลจาก พายด์มองท์ ฮิลล์ และก้าวเข้าสู่ สแตนฟอร์ดในเวลาต่อมาโดยได้รับทั้งปริญญาตรีและโทด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากที่นี่ ส่วนชื่อของ Yahoo! นั้นเป็น คำย่อตามดิกชั่นนารี ว่า "Yet Another Hierarchical Officious Oracle," แต่ ฟิโล และ หยาง บอกว่าเอามาจากเรื่อง Gulliver’s travel บทประพันธ์คลาสสิคระดับโลกของ โจนาธาน สวิฟท์ ในความหมายว่า “หยาบคาย , ไร้เล่ห์เหลี่ยม และไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม” ช่วงเวลาการเกิดขึ้นของยาฮูนั้น ยาฮูไม่ใช่เจ้าแรกของตลาดแน่นอน แต่เป็นเว็บไซต์แรกที่สามารถทำให้ธุรกิจออนไลน์ได้ค้นพบคำว่า “กำไรจนปัจจุบันธุรกิจออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตคนเราเข้าไปทุกสิ่ง ไม่ว่า ช็อปปิ้ง ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ จนถึงค้าขายจิปาถะบนเว็บ อีเบย์ และอิทธิพลการค้นหาความรู้ที่โยงใยเป็นแมงมุม จากเว็บไซต์มาแรงแห่งยุค ของ กูเกิ้ล แรกเริ่ม สองคู่หูยาฮู ตั้งชื่อโครงงาน ตามชื่อนักมวยปล้ำอย่างสนุกสนาน โดยของหยางชื่อ Akebono ขณะที่ของ ฟิโลชื่อ Konishikiถือเป็นเรื่องเล่นๆ ที่กลายมาเป็นธุรกิจ ก่อนจะพัฒนามาเป็นเว็บไซต์แถวหน้าของโลก ที่พร้อมให้บริการทุกอย่างที่คุณต้องการตลอด 24 ชั่วโมง!!

คู่หูกูเกิ้ล (จบ)

คู่หู google (2)

โดย ปรารถนา รัตนะสิทธิ์ ผู้เขียน ริชาร์ด แบรนสัน พ่อมดแห่งโลกธุรกิจ และ Obam@rketing


แล้วในที่สุด ต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมานี้ เสือปืนไวอย่าง กูเกิ้ล ก็เข้าซื้อกิจการ เว็บแห่งอนาคตที่เปิดโอกาสให้โพสวีดีโอ อย่าง ยูทูบ (YouTube.com) แล้ว ด้วยเม็ดเงิน 1.6 พันล้านดอลล่าร์ หลังเคยมีข่าวออกมาว่า เป็นเว็บที่คนเข้าใช้ระดับ 70 กว่าล้านคน แต่ยังขาดช่องทางในการแสวงหารายได้ จึงทำให้ กูเกิ้ลใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก จนนิตยสารวิเคราะห์ข่าวธุรกิจเมืองนอก กล่าวขวัญกันเป็นการใหญ่ กับการรวมตัวของ 2 ยักษ์ใหญ่ และที่สำคัญคือ ความเป็นนวัตกรรมสังคม และเป็นช่องทางให้โลกออนไลน์มีเสรีภาพยิ่งขึ้นไปอีก โดย บริน ให้สัมภาษณ์ว่า ยูทูบ ทำให้เขาคิดถึงวันแรกๆ ของกูเกิ้ล ที่เด็กหนุ่มเอาไอเดียมาสานฝันให้เป็นจริง จนเกิดเป็นประดิษฐกรรมให้กับโลก แล้วมอบสถานภาพเศรษฐีให้กับตัวเอง ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้น ณ รั้วสแตนฟอร์ด หลังจาก เพจ และ บรินได้เจอกัน ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนคู่คิด จนเมื่อมหาวิทยาลัยเปิดเทอม เพจ เข้ามารายงานตัว และเลือก Prof. Terry Winograd ผู้เชี่ยวชาญด้านการโต้ตอบระหว่างคอมพิวเตอร์และมนุษย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และเริ่มมองหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ เพจ ใช้เวลาอยู่นานในการเลือกหัวข้อ จนสรุปว่า เขาเลือกศึกษาเรื่อง World Wide Web และแม้จะเป็นหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับเว็บ แต่เขาไม่ได้สนใจที่วิธีการค้นหาข้อมูลบนเว็บ แต่มองจากมุมมองด้านคณิตศาสตร์มากกว่า
เพจ มองว่า 1 เว็บไซท์ หรือ 1 คอมพิวเตอร์ เป็นเพียง จุดๆ หนึ่งบนกราฟ และ ลิงค์ เชื่อมไปยังเว็บไซท์อื่นๆ เป็นทางเชื่อมต่อกัน หรือพูดง่ายๆ ว่า เพจ มองเห็น อินเตอร์เน็ตเป็นกราฟที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เราเคยสร้างขึ้นนั่นเอง! แล้ว เพจ ยังสนใจในจุดที่ว่า แล้วใครลิ้งค์ไปหาใครบ้าง จึงเลือกเอาปัญหาในเรื่องนี้ มาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และตั้งชื่อเล่นให้กับโปรเจ็คว่า "BackRub Project" จาก BackRub Project ที่ค่อยๆ เติบโตมา ด้วยน้ำมือของนักศึกษา 2 คน ที่ใช้ห้องนอนที่หอพักนักศึกษา ทำเป็นห้อง Server และ ห้องเขียนโปรแกรม จนกลายเป็น Google Project จนเมื่อ เพจ และ บริน มั่นใจในประสิทธิภาพของระบบการค้นหาของตน จึงจดทะเบียน โดเมนเนม Google ในวันที่ 15 กันยายน 1997 และ ตั้งบริษัทชื่อ กูเกิ้ล ในปี 1998 ก่อนเข้าตลาดหุ้นในปี 2004 ส่วนชื่อ Google นั้น มาจากคำว่า "googol" หมายถึง จำนวนทางคณิตศาสตร์ที่หมายถึงเลข 1 แล้วตามด้วยเลข 0 อีกหนึ่งร้อยตัว หรือ 10100 เพื่อแสดงถึงเป้าหมายของบริษัทที่จะจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาล กูเกิ้ลเก็บข้อมูลเว็บโดยการส่งโปรแกรมเก็บข้อมูลเว็บไซต์ เรียกว่า สไปเดอร์ (spider หรืออีกชื่อคือ web crawler) ซึ่งเป็นโรบอต (robot) ชนิดหนึ่ง สไปเดอร์จะวิ่งไปตามลิงก์ต่าง ๆ จากเว็บไซต์หนึ่งไปสู่อีกเว็บไซต์หนึ่ง แล้วจะประมวลผล เพื่อจัดลำดับในการแสดงผล โดยใช้ระบบเฉพาะของทางกูเกิ้ล โดยระบบจัดอันดับเว็บเพจแต่ละหน้าของกูเกิ้ล เรียกว่า เพจแรงค์ (PageRank) กูเกิ้ลกลายเป็นเสิร์ช เอ็นจิ้นที่มีการใช้งานมากที่สุดในโลก และยังมีอีกกว่า 10 แห่งนำข้อมูลไปใช้ ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดถึง 42 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันกูเกิ้ล เจริญเติบโตอย่างเร็วและเป็นระบบ เมื่อได้ซีอีโอ อิริค ชมิดท์ มานั่งตำแหน่งซีอีโอ จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมกูเกิ้ลจึงบุกตลาดทั้งในส่วนเทคนิคและวางกลยุทธ์การตลาดรองรับ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กูเกิ้ลขายหุ้นไปล็อตใหญ่ราคาหุ้นละ 389.75 เหรียญสหรัฐ จำนวน 5.3 ล้านหุ้น ได้เงินถึง 2,062 ล้านเหรียญ ยาฮู และไมโครซอฟท์ จึงต้องปรับตัวอย่างหนัก แต่ไม่รู้ว่าจะทันหรือเปล่าปัจจุบัน เพจ และ บริน คู่หู ในวัยสามสิบต้นๆ ซื้อเครื่องโบอิ้ง 767 ไว้ใช้ส่วนตัวเวลาไปติดต่อธุรกิจ!!!